วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลักการอ่านภาษาไทย

การอ่าน เป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตคนเรามาก ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เพศใด วัยใด ก็ต้องการที่จะเพิ่มพูนความรู้ของตนเองอยู่เสมอ เพราะการอ่านนั้น นอกจากที่จะอ่านเพื่อเก็บความรู้แล้ว การอ่าน ยังให้ความบันเทิงแก่ชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ซึ่งต้องใช้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องมีหลักการอ่านและทักษะการอ่าน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีความรักในการอ่าน เพราะถ้ารักการอ่านแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่รู้มาก หรือเป็น “ พหูสูต ”
หลักการอ่านหนังสือนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว หนังสือแต่ละชนิดจะมีหลักการอ่านที่ไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือแต่ละประเภท เช่น การอ่านหนังสือตำราวิชาการ จะต้องมีการอ่านอย่างคร่าวๆ แล้วกลับมาอ่านซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ แล้วจึงสรุปประเด็น , การอ่านหนังสืออ้างอิง เป็นการอ่านเฉพาะส่วน เพื่อให้ได้คำตอบในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือประเภทใด ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านได้ทั้งนั้น ผู้อ่านต้องมีความใส่ใจกับสิ่งที่อ่าน และฝึกฝนการอ่าน ตั้งใจอ่านอย่างมีสมาธิแน่วแน่ นำกลวิธีการอ่านต่าง ๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นกระบวนการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
ความหมายของการอ่าน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ว่าไว้ว่า “ ว่าตามตัวหนังสือ, ถ้าออกเสียงด้วย เรียกว่า อ่านออกเสียง, ถ้าไม่ต้องออกเสียง เรียกว่า อ่านในใจ; สังเกตหรือพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ เช่น อ่านสีหน้า อ่านริมฝีปาก อ่านใจ ; ตีความ เช่น อ่านรหัสอ่านลายแทง ; คิด , นับ. (ไทยเดิม). ” จะเห็นได้ว่า จากความหมายของการอ่านนั้น ต้องการให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ , รับรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ได้อ่านไป และการอ่านนั้น จะต้องมีการเก็บความรู้ เพื่อให้รู้ว่า ผู้แต่งต้องการสื่ออะไร

จุดมุ่งหมายในการอ่าน

อ่านเอาเรื่อง เป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่อง ผู้อ่านจำเป็นต้องจำรายละเอียด และพอรู้คร่าว ๆ บางครั้งอาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของศัพท์และสำนวน ดังนั้นผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้ , ความเข้าใจคำศัพท์เสียก่อน จึงจะอ่านได้ และการอ่านเอาเรื่องนี้เป็นการอ่านเพื่อประโยชน์ขั้นปฐม หรือขั้นต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการอ่านเอารส และอ่านเอาสาระ
อ่านเอารส ผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้สึกไวต่อการสะเทือนใจอย่างใดอย่างหนึ่งของตัวละคร แต่เสมือนเป็นการสะกิดใจให้ผู้อ่านคิดต่อ ว่าการที่เรารู้สึกอย่างนั้น เป็นเพราะเหตุไร และมีความหมายหรือส่งผลกระทบต่อเรื่องอย่างไร การอ่านเอารสจึงนำไปสู่การอ่านเอาสาระต่อไปได้
อ่านเอาสาระ เป็นจุดหมายที่หลายคนต้องการจากการอ่าน เพราะการอ่านเอาสาระยิ่งได้สาระมาก ก็ยิ่งมีความรู้มาก ได้เปรียบมาก โดยจะเป็นการสกัดเอาสาระซึ่งเป็นแก่นสารหรือเป็นหัวใจของเรื่องที่อ่านนั้น ที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ โดยต้องใช้วิธีการตั้งประเด็นปัญหาแล้วนำมาคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีขั้นตอนจนได้คำตอบ

ขั้นตอนก่อนการลงมืออ่านหนังสือ

๑. สำรวจตนเอง กล่าวคือ ก่อนที่ผู้อ่านจะเริ่มอ่านหนังสือนั้น ผู้อ่านจะต้องสำรวจตนเองก่อนว่า จะอ่านหนังสืออะไร , จุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือครั้งนี้คืออะไร , อ่านแล้วได้อะไร และเมื่อผู้อ่านสำรวจตนเองเรียบร้อยแล้ว จึงต้องลงมือหาหนังสือที่ตนเองต้องการ ในข้อนี้เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านหนังสือ
๒. สำรวจหนังสือ กล่าวคือ ผู้อ่านต้องสำรวจว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอะไร มีเนื้อความกล่าวถึงสิ่งที่ผู้อ่านต้องการจะทราบ หรือผู้อ่านต้องการอ่านหรือไม่ โดยสามารถดูได้จาก สารบาญของหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกโครงเรื่องของหนังสือว่า หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาใดบ้าง การอ่านหนังสือที่ตรงกับจุดประสงค์ของผู้อ่านนั้น จะช่วยให้ผู้อ่านย่นระยะเวลาในการอ่านหนังสือมากขึ้น
๓. สำรวจสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หลักจากที่สำรวจหนังสือแล้ว ผู้อ่านจะต้องสำรวจสิ่งแวดล้อมว่า สถานที่และเวลานี้ เหมาะสมหรือไม่สำหรับการอ่านหนังสือ ผู้อ่านแต่ละท่าน มีความเคยชินและความถนัดในสิ่งแวดล้อมของการอ่านหนังสือไม่เหมือนกัน เช่น นักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือในเวลากลางคืน หรือช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจาก มีความเป็นส่วนตัว , มีสมาธิ ทำให้สามารถจดจำในรายละเอียดได้มากขึ้น , สิ้นสุดภารกิจในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

ลักษณะของการอ่านที่ดี

๑. ไม่นอนอ่านหนังสือ กล่าวคือ การนอนเป็นอิริยาบถที่เหมาะแก่การพักผ่อนมากกว่าการที่จะเก็บเนื้อหาสาระจากการอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าผู้อ่านนอนอ่าน จะทำให้สามารถเผลอหลับไปได้ทุกเวลา
๒. ควรสร้างสมาธิก่อนอ่าน กล่าวคือ ในขณะเวลาที่อ่านนั้นไม่สมควรที่จะอยู่ในที่พลุกพล่าน , ควรอยู่ในที่ที่มีความเงียบสงบ , ไม่สมควรดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุในขณะอ่าน เพราะจะทำให้เสียสมาธิในการอ่าน ทำให้ไม่สามารถเก็บสาระในการอ่านได้ และไม่มีความพร้อมในการอ่าน เนื่องจากการอ่านต้องมีสมาธิอย่างมาก เพราะการอ่านที่ดี ผู้อ่านควรเนื้อหาเก็บสาระจากการอ่านให้ได้มากที่สุด และทำความเข้าใจ
๓. ทักษะการอ่านและทักษะการเขียนเป็นของคู่กัน กล่าวคือ ในขณะที่ผู้อ่าน อ่านหนังสือนั้น ควรจะมีกระดาษและปากกาหรือสมุดบันทึก เพื่อบันทึกสาระสำคัญในขณะการอ่าน เพราะว่า การบันทึกสาระสำคัญในขณะการอ่านนั้น จะช่วยทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ จะทำให้ผู้อ่านนั้นจดจำสาระสำคัญของหนังสือที่อ่านได้ด้วย นอกจากนี้ การเขียนบันทึกสาระสำคัญ หลังจากการอ่านหรือในขณะการอ่านนั้นจะช่วยทบทวนในสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดได้อีกด้วย
๔. การอ่านหนังสือที่ดีต้องรู้ที่มา กล่าวคือ ผู้อ่านควรจดจำแหล่งที่มาของหนังสือหรือข้อเขียนที่อ่าน บางทีอาจจะมีประโยชน์ต่อการอ้างอิง นอกจากนี้เมื่อผู้อ่านต้องการความรู้แบบต่อยอดแต่ไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือที่ผู้อ่านอ่านได้ แต่ผู้อ่านรู้จักจดจำหรือสังเกตแหล่งที่มาของหนังสือ รวมทั้งศึกษาภูมิหลังของหนังสือ ทั้งผู้แต่งหรือที่มาของหนังสือ จะทำให้ผู้อ่านสามารถหาความรู้ต่อยอดได้
๕. ผู้อ่านที่ดีควรคิดตามและมีวิจารณญาณในการอ่าน กล่าวคือ ผู้อ่านที่ดีควรคิดตามในสิ่งที่อ่าน อาจจะเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่อ่านว่า มีความเป็นข้อคิดเห็นหรือข้อเท็จจริง และถ้าผู้อ่านคิดตาม ผู้อ่านจะมีความสามารถในการอ่าน การคิดตามอาจจะตัดสินได้ว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือผิดประการใด
๖. ผู้อ่านที่ดีควรรู้จักทบทวน กล่าวคือ หลังจากที่อ่านหนังสือแล้ว ผู้อ่านจะต้องหมั่นทบทวนในสิ่งที่อ่านอยู่เสมอ ประการหนึ่งก็เพื่อให้ผู้อ่านนั้นรู้สึกว่าการอ่านหนังสือนั้นจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้อ่านได้ โดยที่ผู้อ่านจะต้องหมั่นทบทวนซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนจำได้ขึ้นใจ
๗. ในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี สารสนเทศ และข้อมูลข่าวสาร มีข่าวสารต่าง ๆ เลื่อนไหลเข้ามาในกระแสของโลกอย่างมากมาย ทั้งข้อมูลด้านดี และข้อมูลด้านลบ ที่ทำให้ผู้อ่านต้องอ่านและใช้ดุลพินิจในการตีความ การอ่านเร็วมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้ายิ่งอ่านเร็วและสามารถเข้าใจได้เลย ก็จะทำให้เราสามารถตักตวงในสิ่งที่อ่านได้มาก เพราะยุคนี้คนต้องมีความรู้มาก เป็นยุคที่ต้องแข่งขัน ต้องตักตวงไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสาระหรือมีความบันเทิง การจะอ่านได้เร็วนั้นต้องฝึกหัดให้มาก ๆ และอ่านบ่อย ๆ
๘. ผู้อ่านต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะอ่านพอสมควร หรือมีความสนใจในเรื่องที่จะอ่าน รวมทั้งควรเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการอ่าน เพราะเมื่อผู้อ่านไม่มีความรู้พื้นฐาน หรือไม่มีความสนใจในเรื่องที่จะอ่านแล้ว จะทำให้การอ่านนั้นไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จน้อย
๙. ผู้อ่านต้องฝึกจับใจความ กล่าวคือ การอ่านผู้อ่านอ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสารคดี หรือบันเทิงคดี ล้วนจะต้องมีใจความสำคัญอยู่ ดังนั้นผู้อ่านจะต้องจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านให้ได้
๑๐. อ่านแล้วเล่าต่อ กล่าวคือ การอ่าน ถ้าอ่านอย่างเดียวโดยไม่มีการทบทวนหรือเล่าต่อ ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านลืมในสิ่งที่อ่านไปทั้งหมดได้ หรือจำได้เพียงบางอย่าง แต่เมื่อผู้อ่านไปเล่าต่อแล้ว ความรู้นั้นก็จะกลับมาเหมือนกลับเป็นการทบทวนให้ผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง